สิทธิควรรู้ "สมรสเท่าเทียม" ช่วยคู่รัก LGBTQIA+ อะไรบ้าง ?


Insight

28 มี.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
สิทธิควรรู้ "สมรสเท่าเทียม" ช่วยคู่รัก LGBTQIA+ อะไรบ้าง ?

ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับชาว LGBTQIA+ หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ เมื่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางความยินดีจากหลากหลายฝ่าย ชวนให้สงสัย แล้วคู่รักหลากหลายทางเพศ จะได้สิทธิอะไรจากกฎหมายนี้บ้าง ? Thai PBS ชวนมาสำรวจสิทธิเหล่านี้ร่วมกัน

1. สิทธิการได้ดูแลชีวิตของคู่รักของตน

คนแต่งงานกันตามกฎหมายเดิม จะได้รับสถานะทางกฎหมายที่มีความเชื่อมโยงกันเหมือนญาติ ดังนั้นการแต่งงานของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ที่เดิมทีไม่มีกฎหมายรองรับ แม้จะอยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนาน แต่หลายครั้งกลับไม่สามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้ได้ อาทิ การดูแลตัดสินใจเรื่องทางการแพทย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกรักษาพยาบาล การตัดสินใจสำคัญทางการแพทย์ในกรณีที่คน ๆ นั้นไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ หรือกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายก็จะมีสิทธิในการจัดการศพได้ด้วยนั่นเอง

2. สิทธิในการแต่งงาน

หากเป็นเชิงพิธีกรรม การแต่งงานของคู่รักต่างเพศสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ในทางกฎหมาย กลับไม่เอื้ออำนวย เป็นเหตุให้หลายคู่เลือกบินไปจดทะเบียนสมรสกันยังต่างประเทศ แต่หากมีกฎหมายรองรับ เรื่องสิทธิการแต่งงาน ในอนาคตสามารถจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยได้ รวมถึงมีกฎหมายรองรับพิธีกรรมอื่น ๆ เช่น สิทธิการหมั้น การจดทะเบียนสมรส รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส รวมไปถึงการเป็นตัวแทนทางกฎหมาย สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม และสิทธิได้รับประโยชน์จากสวัสดิการจากรัฐ (อาทิ สวัสดิการข้าราชการ รับประโยชน์ทแทนตามสิทธิประกันสังคม) นอกจากนี้ยังได้สิทธิในการขอสัญชาติอีกด้วย

3. สิทธิการเป็นพ่อแม่ของลูก (ตามกฎหมาย)

การมีบุตรบุญธรรมของคู่รัก LGBTQIA+ เดิมทีสามารถรับเป็นผู้ปกครองได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายการรับบุตรบุญธรรมระบุไว้ว่า สามารถรับเป็นบุตรบุญธรรมได้กับบุคคลเดียว ยกเว้นจะเป็นคู่สมรสกัน แต่หากมี พรบ.สมรสเท่าเทียม คู่รัก LGBTQIA+ สามารถเป็นผู้ปกครองของบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ทั้งนี้ ผู้รับบุตรบุญธรรมยังคงจะต้องมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี

4. สิทธิในการหย่าร้าง

สิทธิในการแต่งงานที่เท่าเทียม นำมาซึ่งสิทธิที่เท่าเทียมกันหากคู่รักใช้ชีวิตมาจนจุดแยกจากกันด้วย โดยจะมีสิทธิในการฟ้องหย่า สิทธิในการฟ้องร้องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น สิทธิการเลี้ยงดูบุตร การเรียกค่าเลี้ยงชีพตามแต่กรณีการหย่าร้างที่เกิดขึ้น และสิทธิในสินสมรส

การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทยถือเป็นก้าวสำคัญและยกระดับความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเรื่องราวของสิทธิทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิที่เท่าเทียมกันกับที่คู่สมรสตามกฎหมายเดิมนั่นเอง
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

LGBTQIA+ความหลากหลายกลุ่มหลากหลายทางเพศสมรสเท่าเทียม
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ